วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

หลักกฎหมายแพ่งละพาณิชย์


๑. นิติกรรม คืออะไร

 
คือการใดๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลเพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ (ป.พ.พ.ม. ๑๔๙)

 
กล่าวโดยย่อ นิติกรรม คือ การกระทำของบุคคลโดยชอบด้วยกฎหมายและมุ่งต่อผลในกฎหมายที่จะเกิดขึ้นอันได้แก่ การเคลื่อนไหวแห่งสิทธิ มีการก่อสิทธิ เปลี่ยนแปลงสิทธิ โอนสิทธิ สงวนสิทธิและระงับซึ่งสิทธิ เช่น สัญญาซื้อขาย, สัญญากู้เงิน, สัญญาจ้างแรงงาน สัญญาให้และพินัยกรรมเป็นต้น

 
การแบ่งแยกประเภทของนิติกรรม

 
๑.๑ นิติกรรมฝ่ายเดียว ได้แก่ นิติกรรมซึ่งเกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาของบุคคลฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียวและมีผลตามกฎหมาย ซึ่งบางกรณีก็ทำให้ผู้ทำนิติกรรมเสียสิทธิได้ เช่น การก่อตั้งมูลนิธิ คำมั่นโฆษณาจะให้รางวัล การรับสภาพหนี้ การผ่อนเวลาชำระหนี้ให้ลูกหนี้ คำมั่นจะซื้อหรือจะขาย การทำพินัยกรรม การบอกกล่าวบังคับจำนอง เป็นต้น

 
๑.๒ นิติกรรมสองฝ่าย (นิติกรรมหลายฝ่าย) ได้แก่ นิติกรรมซึ่งเกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาของบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไปและทุกฝ่ายต้องตกลงยินยอมระหว่างกันกล่าวคือฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาทำเป็นคำเสนอ แล้วอีกฝ่ายหนึ่งแสดงเป็นเจตนาเป็นคำสนอง เมื่อคำเสนอและคำสนองถูกต้องตรงกันจึงเกิดมีนิติกรรมสองฝ่ายขึ้นหรือเรียกกันว่า สัญญา เช่น สัญญาซื้อขาย สัญญากู้ยืม สัญญาแลกเปลี่ยน สัญญาขายฝาก จำนอง จำนำ เป็นต้น

 
๒. ความสามารถของบุคคลในการทำนิติกรรมสัญญา

 
โดยหลักทั่วไป บุคคลย่อมมีความสามารถในการทำนิติกรรมสัญญา แต่มีข้อยกเว้นคือ บุคคลบางประเภทกฎหมายถือว่าหย่อนความสามารถในการทำนิติกรรมสัญญา เช่น ผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ และบุคคลล้มละลาย สำหรับผู้เยาว์จะทำนิติกรรมได้ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม (ป.พ.พ.ม.๒๑) เว้นแต่นิติกรรมที่ได้มาซึ่งสิทธิโดยสิ้นเชิงหรือเพื่อให้หลุดพ้นหน้าที่ หรือการที่ต้องทำเองเฉพาะตัวหรือกิจกรรมที่สมแก่ฐานานุรูป และจำเป็นในการเลี้ยงชีพเหล่านี้ผู้เยาว์ทำด้วยตนเองได้ (ป.พ.พ.ม.๒๒,๒๓,๒๔) ส่วนคนไร้ความสามารถต้องอยู่ในความอนุบาลกิจการใดๆ ของคนไร้ความสามารถผู้อนุบาล ซึ่งแต่งตั้งโดยศาลต้องเป็นผู้ทำเองทั้งสิ้น (ป.พ.พ.ม. ๒๘ วรรคสอง) สำหรับคนเสมือนไร้ความสามารถทำกิจการเองได้ทุกอย่าง เว้นแต่กิจกรรมบางอย่างตาม ป.พ.พ.ม. ๓๔ จะทำได้ต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์เช่น สัญญา ซื้อขายที่ดิน เป็นต้น

 
บุคคลล้มละลายจะทำนิติกรรมใดไม่ได้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามคำสั่งศาลเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทน

 
๒.๑ ผู้มีสิทธิในการทำนิติกรรมสัญญา ปกติแล้ว บุคคลทุกคนต่างมีสิทธิในการทำนิติกรรมสัญญา แต่ยังมีบุคคลบางประเภทเป็นผู้หย่อนความสามารถ กฎหมายจึงต้องเข้าดูแลคุ้มครองบุคคลเหล่านี้ไม่ให้ได้รับความเสียหายในการกำหนดเงื่อนไขในการเข้าทำนิติกรรมของผู้นั้น

 
๒.๒ ผู้หย่อนความสามารถในการทำนิติกรรมสัญญา

 
(๑) ผู้เยาว์ คือบุคคลที่ยังมีอายุไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ การทำนิติกรรมสัญญาใดๆของผู้เยาว์ กฎหมายกำหนดให้ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม คือบิดามารดาหรือผู้ปกครองแล้วแต่กรณีเสียก่อน การทำนิติกรรมสัญญาใดที่ปราศจากความยินยอมกฎหมายเรียกว่าเป็นโมฆียะซึ่งอาจถูกบอกล้างภายหลังได้ต่อเมื่ออายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์แล้วจึงพ้นจากภาวะเป็นผู้เยาว์และเป็นผู้บรรลุนิติภาวะเป็นผู้เยาว์และเป็นผู้บรรลุนิติภาวะจึงมีความสามารถใช้สิทธิในการทำนิติกรรมสัญญาได้เอง
แม้จะอายุยังไม่ถึง ๒๐ ปีบริบูรณ์ แต่ได้บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรสแล้วก็ย่อมทำนิติกรรมสัญญาได้ดังเช่นผู้บรรลุนิติภาวะทุกประการ (การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว(มาตรา ๑๔๔๘))

 
(๒) คนวิกลจริต คือบุคคลที่มีสมองพิการหรือว่าจิตใจไม่ปกติ โดยมีอาการหนักถึงขนาดเสียสติทุกสิ่งทุกอย่าง พูดกันไม่เข้าใจและไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร

 
(๓) คนไร้ความสามารถ คือ คนวิกลจริตที่ศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถการที่ศาลจะมีคำสั่งให้คนวิกลจริตคนใดเป็นคนไร้ความสามารถนั้น จะต้องมีผู้เสนอเรื่องต่อศาลโดยกฎหมายได้ระบุให้บุคคลดังต่อไปนี้เสนอเรื่อง โดยร้องขอต่อศาลได้ คือสามีหรือภริยาของคนวิกลจริต ผู้สืบสันดานของคนวิกลจริต (ลูก,หลาน,เหลน,ลื้อ) ผู้บุพการีของคนวิกลจริต (บิดา,มารดา,ปู่,ย่า,ตา,ยาย,ทวด) หรือผู้ปกครองหรือผู้พิทักษ์ ผู้ซึ่งปกครองดูแลคนวิกลจริตหรือพนักงานอัยการ (ป.พ.พ. มาตรา ๒๘) เมื่อศาลไต่สวนได้ความว่าวิกลจริตจริงก็จะสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความอนุบาล โดยศาลจะตั้งผู้อนุบาลให้

 
(๔) คนเสมือนไร้ความสามารถ คือบุคคลผู้ใดไม่สามารถจะจัดทำการงานของตนเองได้ หรือจัดการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเอง หรือครอบครัว เพราะ
๑. กายพิการหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
๒. ประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ
๓. ติดสุรายาเมา
๔. มีเหตุอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น
เมื่อบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดดังต่อไปนี้ คือ สามีหรือภริยา ผู้บุพการี หรือผู้สืบสันดาน หรือผู้พิทักษ์หรือผู้ปกครองหรือผู้ซึ่งปกครองดูแลคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล ศาลจะสั่งให้บุคคลดังกล่าวเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและสั่งให้ผู้นั้นอยู่ในความพิทักษ์ก็ได้ (ป.พ.พ. มาตรา ๓๒)

 
(๕) ลูกหนี้ที่ถูกฟ้องเป็นบุคคลล้มละลายตามกฎหมายล้มละลาย เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ก็ตกเป็นผู้หย่อนความสามารถ กล่าวคือลูกหนี้จะกระทำการใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือกิจการของตนไม่ได้ เว้นแต่จะกระทำได้ตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล, เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์, ผู้จัดการทรัพย์, หรือที่ประชุมเจ้าหนี้
และเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวที่มีอำนาจในการจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ และการกระทำการอื่นๆเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ เช่น การฟ้องร้อง การต่อสู้คดี การประนีประนอม เป็นต้น

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น